Phrase (วลี)

Phrase (วลี)

Phrase  (วลี)
วลี หรือ phrase นั้นก็คือ  กลุ่มคำที่ประกอบด้วยคำตั้งแต่ 2 คำขึ้นไป  แต่ขาดประธานหรือขาดกริยา  จึงยังไม่เป็นประโยคที่สมบูรณ์   เพราะองค์ประกอบที่สมบูรณ์ของประโยคนั้นต้องประกอบด้วยทั้งประธานและกริยา จะขาดอันใดอันหนึ่งไปไม่ได้  แล้ววลีสำคัญยังไง??  ทำไมเราถึงต้องไปรู้จักเจ้าวลีหรือ phrase กันด้วย  เหตุผลก็คือ ถึงมันจะยังไม่ใช่ประโยค แต่มันก็เป็นส่วนหนึ่งของประโยค  ซึ่งก็คือ  มันจะไปทำหน้าที่ในส่วนของประธาน  กริยา  กรรม หรือส่วนเติมเต็ม  หรือทำหน้าที่ขยายกริยา  ขยายคำนามก็ยังได้

วลีในภาษาอังกฤษ เค้าก็มีการแบ่งออกเป็นประเภทเหมือนกันนะคะ  คือแบ่งออกเป็น 5 ประเภท  ดังนี้ค่ะ

1.  นามวลี   หรือที่ได้ยินผ่านหูกันบ่อยๆว่า Noun phrase  ชื่อของมันก็คือนามวลี  ดังนั้นคำหลักในกลุ่มคำนี้ก็หนีไม่พ้นต้องเป็น  คำนาม  โดยคำอื่นที่อยู่ร่วมกับมัน ไม่ว่าจะอยู่ข้างหน้าหรืออยู่ข้างหลัง  มันก็คือคำนำหน้าคำนามและคำขยาย ซึ่งคำนำหน้านามประกอบด้วย  article, คำนำหน้านามชี้เฉพาะ, คำนำหน้านามแสดงความเป็นเจ้าของ, คำแสดงปริมาณ และคำแสดงจำนวน   ฉะนั้น  สิ่งสำคัญ !  คือต้องหาคำนามหลักให้เจอ แล้วค่อยแปลส่วนขยายเพื่อที่เวลาอ่านจะได้ไม่หลุดประเด็นไปไกล  หน้าที่ของนามวลีในประโยคก็เหมือนกับคำนามทั่วไปเลย  คือ  เป็นประธาน กรรม หรือส่วนเติมเต็ม ในประโยค  ตัวอย่างของนามวลี เช่น

  • the solution of economical problems
  • three possible answers to this question
  • some water in that bucket

2.  กริยาวลี  หรือ verb phrase แน่นอนว่าคำหลักในวลีนี้คือ คำกริยา  ส่วนคำอื่นๆที่มาประกอบก็จะเป็นกริยาช่วยซึ่งในหนึ่งวลีก็อาจจะมีกริยาช่วยมากกว่า 1 ตัว  หน้าที่ของกริยาวลีคือทำหน้าที่เป็นกริยาในประโยค  ตัวอย่างของกริยาวลีในประโยคคือ

  • is sleeping
  • should have talked
  • will be eating

3.  คุณศัพท์วลี  หรือ adjective phrase  คือกลุ่มคำที่มีคำคุณศัพท์เป็นคำหลัก  ทำหน้าที่ขยายคำนามเหมือนกับคำคุณศัพท์ทั่วๆไป  เช่น

  • very comfortable
  • so tired

4.  กริยาวิเศษณ์วลี  หรือ adverb phrase คือกลุ่มคำที่มีคำกริยาวิเศษณ์เป็นคำหลัก  ทำหน้าที่ขยายคำกริยาในประโยค  เช่น

  • very slowly
  • really carefully
  • thoroughly indeed

5.  บุพบทวลี  หรือ prepositional phrase  คือวลีที่มีคำบุพบทเป็นคำหลัก  ซึ่งส่วนประกอบของบุพบวลีก็จะมี  บุพบท + ส่วนขยาย  ซึ่งส่วนขยายก็จะแบ่งออกเป็นส่วนขยายที่เป็น Noun phrase , Noun clause และ Gerund (Ving)

บุพบท + ส่วนขยายที่เป็น  Noun phrase เช่น

  • about the donation for the underprivileged

บุพบท + ส่วนขยายที่เป็น  Noun clause เช่น

  • for what you have done

บุพบท + ส่วนขยายที่เป็น  gerund เช่น

  • for coming

บุพบทวลี ทำหน้าที่ขยายคำนามในประโยค โดยการนำไปวางไว้ข้างหลังคำนามนั้น เช่น

  • The company needs expert in the field of English.

บุพบทวลี  ทำหน้าที่ขยายคำกริยาในประโยค  โดยวางไว้หลังคำกริยา  เช่น

  • My answer depends on who asks the question.

บุพบทวลี  ทำหน้าที่ขยายคำคุณศัพท์ โดยวางไว้หลังคำคุณศัพท์  เช่น

  • All Thai people are well aware of political conflict in the country.

บุพบทวลี  ทำหน้าที่ขยายประโยค  เช่น

  • In my opinion, the budget is insufficient to cover all the project.