ประโยค If-clause
ประโยค If-clause ก็คือประโยคเงื่อนไข คือถ้าทำอย่างนั้น ผลจะเกิดเป็นอย่างนี้ ประโยค If-clause ที่ร่ำเรียนกันมา หรือที่ควรจะรู้จักก็มีอยู่ 3 แบบ ด้วยกันค่ะ เกณฑ์ในการแบ่งก็ตามเงื่อนไขและเวลา แต่ก่อนจะไปดูว่า 3 แบบนี้มีอะไรบ้าง เราลองมาทำความรู้จักกับหน้าตาของประโยค If-clause กันก่อน ประโยค If-clause ประกอบด้วยสองส่วนคือส่วนที่มี If หรือประโยคที่เป็นเหตุ และอีกส่วนจะไม่มี if คือประโยคที่เป็นผล เช่น
- If my son passes his exam, I will buy him a guitar.
ประโยคที่มี If คือประโยคเหตุ “ถ้าลูกชายสอบผ่าน” ส่วนที่สองคือประโยคผล “ฉันจะซื้อกีตาร์ให้ลูก” นี่คือเงื่อนไขที่ผู้พูดได้สร้างไว้
สองส่วนนี้สามารถสลับตำแหน่งกันได้ แต่ถ้า If อยู่ด้านหน้า จะต้องมีเครื่องหมายคอมมา (,) คั่นตรงกลาง แต่ถ้าเอาส่วนที่เป็นผลขึ้นก่อน (คือส่วนที่ไม่มี if)ก็ไม่ต้องใส่คอมมา เช่น
- I will buy my son a guitar if he passes his exam.
1. ประโยค If-clause แบบที่ 1 คือ ประโยคเงื่อนไขที่อาจจะเป็นไปได้ในปัจจุบัน เวลาพูด If-clause แบบที่ 1 นี้ ส่วนใหญ่โอกาสจะเป็นไปได้สูง เงื่อนไขเวลาคือปัจจุบันดังนั้น tense ที่จะมาเกี่ยวข้องก็หนีไม่พ้น present simple tense แน่นอนค่ะ เพราะมันเป็น tense ที่บอกข้อเท็จจริง present simple จะไปใช้ในประโยคที่มี if หรือประโยคเหตุ ส่วนประโยคผลเราใช้ เป็น future simple ค่ะ โครงสร้างเป็นแบบนี้
If + Present simple, Subject + will + V1
เช่น
- If I finish my work before 6 o’clock, I will pick you up.
ถ้าฉันทำงานเสร็จก่อนหกโมง ฉันจะไปรับ - What will you do if she refuses your proposal?
คุณจะทำยังไงถ้าเธอปฏิเสธการขอแต่งงาน
** ในส่วนของประโยคที่มี if อาจจะใช้ present tense อื่นๆก็ได้ เช่น present continuous ตามแต่สถานการณ์ เช่น
- If you’re trying to be normal, you will never know how amazing you can be.
2. ประโยค If-clause แบบที่ 2 คือ ประโยคเงื่อนไขที่เป็นไปไม่ได้หรือเป็นไปได้ยากในปัจจุบัน พูดง่ายๆคือสิ่งที่เราสมมติหรือมโนขึ้นมาเอง เช่น ถ้าฉันเป็นเธอ หรือ ถ้าฉันเป็นนก หรือ ถ้าฉันมีเงินพันล้าน อะไรประมาณนี้ซึ่งไม่มีทางเป็นไปได้ หรือเป็นไปได้ยากมากๆ ก็เข้าข่ายแบบที่ 2 นี้เลยค่ะ ส่วน tense ที่จะใช้ใน If-clause แบบที่ 2 นี้ก็คือ past simple ค่ะ ที่ใช้ tense ที่เป็นอดีต เพราะเหตุการณ์นี้เราพูดในปัจจุบันแทนที่จะเป็น present simple แต่มันดันเป็นความจริงในปัจจุบันที่เป็นไปไม่ได้ก็เลยทำให้ความจริงผิดเพี้ยนไป จึงใช้ past simple แทน เพื่อแสดงให้เห็นว่ามันคือสิ่งที่เพี้ยนไปจากความเป็นจริงนั่นเอง!!
โครงสร้างของ If-clause แบบที่ 2 คือ
If + past simple , Subject + would + V1
เช่น
- If I had a private jet, I would go to Switzerland.
ถ้าฉันมีเครื่องบินส่วนตัว ฉันจะสวิซเซอร์แลนด์ - If you were the Prime Minister, what would you change about this country?
ถ้าคุณเป็นนายกรัฐมนตรี คุณจะเปลี่ยนอะไรในประเทศนี้
** มีข้อยกเว้นนิ๊ดนึงตรงที่ ถ้าหากว่าประธานเป็น I, she, he กริยาจากที่เคยใช้ I was, she was, he was ก็จะเปลี่ยนเป็น I were, she were, he were นะคะ เฉพาะในประโยคเงื่อนไขเท่านั้น (จำง่ายๆว่า ไหนๆมันก็เป็นเรื่องสมมติแล้ว เราก็สมมติให้ were ใช้กับ I, she, he ได้ก็แล้วกัน เพื่อแสดงว่าสิ่งที่เราพูดมันตรงข้ามกับความเป็นจริง)
- If Leon’s mother were alive, she would still be a professor in Oxford University.
3. If-clause แบบที่ 3 นี้ คือ ประโยคเงื่อนไขที่แสดงความเป็นไปไม่ได้ในอดีต หรือเป็นการสมมติเหตุการณ์ในอดีตที่ไม่เกิดขึ้นให้เกิดขึ้น หรือถ้ามันเกิดขึ้นก็สมมติว่ามันไม่เกิดขึ้น Tense ที่ใช้เราจะใช้ past perfect tense โครงสร้างหน้าตามันเป็นแบบนี้
If + past perfect, Subject + would have + V3
เช่น
- If I had set my alarm clock, I wouldn’t have got up late.
- I and Jack wouldn’t have known each other if he hadn’t been my brother’s friend.
** วิธีการจำว่า If-clause แต่ละแบบใช้ tense อะไรให้เรานึกถึงหลักความเป็นจริงคือ แบบที่ 1 เป็นไปได้ในปัจจุบัน ใช้ present simple ธรรมดา แต่แบบที่ 2 และ 3 เป็นเรื่องสมมติขึ้นมา ฉะนั้นเราจะถอย tense ไปหนึ่ง tense เพื่อแสดงว่ามันคือการสมมติ คือ แบบที่ 2 เป็นไปไม่ได้ในปัจจุบัน จาก present เราเปลี่ยนเป็น past simple และ แบบที่ 3 เป็นไปไม่ได้ในอดีต จากคำว่า อดีตมันควรจะเป็น past simple เราก็ถอยไปเป็น past perfect ซะ ลองเอาไปใช้ดูค่ะ ^^