คำเปรียบเปรยใช่ว่าจะมีแต่ภาษาไทย ภาษาอังกฤษเขาก็มี
ถ้าพูดถึงเรื่องคำเปรียบเปรยแน่นอนว่า ภาษาไทยมีคำเปรียบเปรยเยอะมากๆ และเราก็คุ้นเคยกันดี เช่น ขยันอย่างมด โง่เหมือนลา เป็นต้น การเล่นคำให้เกิดความหมายเชิงลึกทางภาษาแบบนี้ ภาษาอังกฤษเขาก็มีนะคะ
การเปรียบเปรยในภาษาอังกฤษจะมี 2 ลักษณะหลักๆที่เป็นที่รู้จักกันดีคือ Simile กับ Metaphor ค่ะ ใครอยากเขียนเก่งๆหรืออ่านวรรณกรรมหรืองานเขียนภาษาอังกฤษให้เข้าใจต้องรู้จักสองตัวนี้ค่ะ สำหรับ simile และ metaphor นั้นมีความต่างกันเล็กน้อย simile คือการเปรียบเทียบระหว่างสิ่งของสองสิ่งโดยการใช้คำพูดให้เห็นภาพ และมีคำว่า like หรือ as เข้ามาในประโยค เช่น อยากจะบอกว่าเขากล้าหาญเหมือนสิงโต He is as brave as a lion. หรือคนที่ขยันทำงาน ทำงานเก่ง หรือทำงานหลายๆอย่าง เราก็มักจะเปรียบเทียบกับผึ้ง เช่น
She is as busy as a bee.
ในการเปรียบเทียบแบบ simile เรามักจะเห็นว่ามีการนำเอาพฤติกรรมสัตว์มาใช้เปรียบเทียบกับพฤติกรรมของคนในบางเรื่อง
Last night, you slept like a log. (เมื่อคืนคุณหลับเป็นตายเลย) เปรียบเทียบคนนอนขี้เซาเหมือนท่อนซุง คือนอนแน่นิ่ง เสียงอะไรก็ทำให้ตื่นไม่ได้ ประมาณนี้ แต่ของไทยเราเปรียบเหมือนคนตาย เวลาแปลคำเปรียบเปรยลักษณะเช่นนี้ก็อาจจะต้องแปลให้ออกมามีความหมายแบบไทย ถ้าเราแปลว่า คุณนอนหลับเหมือนท่อนซุง คนอ่านหรือคนฟังก็อาจจะไม่เข้าใจอุปมาอุปไมยที่คนพูดหรือคนเขียนต้องการสื่อก็ได้
อีกลักษณะหนึ่งคือการอุปมาอุปไมยแบบ metaphor ซึ่งลักษณะแบบนี้จะมีความซับซ้อนเพิ่มขึ้นมา มีความหมายในเชิงลึกและบางครั้งต้องอาศัยการตีความ เช่น
You are my world. (คุณเหมือนโลกทั้งใบของฉัน) ในลักษณะนี้เราก็ต้องตีความว่าการที่คนๆหนึ่งเป็นเหมือนโลกทั้งใบคือเป็นทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิตเขา นั่นก็คือ มีความสำคัญต่อเขามากนั่นเอง ในงานเขียนเชิงสร้างสรรค์ส่วนใหญ่มักจะมีการใช้ metaphor มากมาย ตัวอย่างอื่นๆเช่น
The flat tire cost me an hour. (การซ่อมยางรถที่แบนทำให้ฉันเสียเวลาไปหนึ่งชั่วโมง) ซึ่งจริงๆแล้วคำว่า cost แปลว่า มีราคา แต่เวลาหนึ่งชั่วโมงไม่ใช่ราคา แต่เป็นการเปรียบเทียบว่าเป็นการเสียเวลา
Words are the weapon with which we wound. (คำพูดก็เหมือนอาวุธที่ทำให้เราเจ็บปวดได้) ซึ่งจริงๆแล้วคำพูดเป็นอาวุธเหมือน ปืนหรือมืดไม่ได้ แต่ต้องการเปรียบเทียบมันทำให้เราเจ็บปวดจากคำพูดได้
เพิ่มเติมค่ะในบางครั้งจะมีการเปรียบเทียบในลักษณะที่สัตว์หรือสิ่งของมีการทำกริยาอาการเหมือนคน เราเรียกการเปรียบเปรยแบบนี้ว่า personification เช่น
Time flew and before I knew it, I became forties. (เวลาเดินไวมากและก่อนที่ฉันจะรู้ก็อายุขึ้นเลขสี่ซะแล้ว)
All the stars dance in the sky like they are blessing me.
(ดาวทุกดวงบนท้องฟ้ากำลังเต้นรำอยู่บนฟ้าราวกับว่าพวกมันกำลังอวยพรฉัน)
การทำความเข้าใจกับการอุปมาอุปไมยในภาษาอังกฤษจะทำให้เราเข้าใจการใช้ภาษามากขึ้น และเข้าใจในสิ่งที่ผู้เขียนหรือผู้พูดต้องการสื่อมากขึ้น อีกทั้งยังทำให้เราสามารถนำเอามาใช้ในการพูดหรือการเขียนของตนเองได้ด้วยค่ะ