Category Archives: ไวยากรณ์ภาษาอังกฤษ

Subject-Verb Agreement (การใช้คำกริยาให้ถูกต้องสอดคล้องกับประธาน)

Subject-Verb Agreement

Subject-Verb Agreement

เวลาเขียนประโยคแต่ละครั้งสิ่งที่เป็นปัญหาอย่างหนึ่งก็คือ การเลือกคำกริยาให้สอดคล้องกับประธานเพราะเราเกิดไม่แน่ใจขึ้นมาว่าประธานของประโยคเขานับเป็นเอกพจน์หรือพหูพจน์ แล้วกฎของมันก็แยกย่อยออกมาเยอะแยะมากมายจำกันไม่หมดเลยทีเดียว มาดูกันทีละข้อเลยค่ะ

1. มาดูกฎเบสิคกันก่อนเลย ถ้าประธานเป็นเอกพจน์คือมีหนึ่งเดียว กริยาเป็นเอกพจน์   และถ้าประธานมีหลายคนหรือหลายสิ่ง กริยาก็ต้องเป็นพหูพจน์ไปตามระเบียบ

เช่น

  • This room is for our guests.
  • These children live near my house.

2. ถ้าประธานมี 2 ตัว เชื่อมด้วย “and”   ให้ถือเป็นประธานพหูพจน์ กริยาจึงต้องเป็นพหูพจน์ เช่น

  • My brother and I are twins.

แต่!! ถ้าประธานที่เชื่อมด้วย “and” แต่เป็นสิ่งเดียวกันหรือเป็นหน่วยเดียวกัน ให้ถือเป็นเอกพจน์ และใช้กริยาเอกพจน์ เช่น

  • Bread and butter is my favorite breakfast.   (ขนมปังและแยมหรือขนมปังทาแยมมันคือของชิ้นเดียวกัน มันจึงเป็นเอกพจน์)

3. ประธานที่มีวลีหรือคำขยายต่อท้าย จะนับเป็นเอกพจน์หรือพหูพจน์นั้น ให้ดูประธานที่อยู่ข้างหน้าเป็นหลัก เช่น

  • Many boys including my brother like playing computer game.
  • Tammy together with her family has reserved the table at this restaurant.

4. คำต่อไปนี้เมื่อเป็นประธานของประโยคให้ถือเป็นเอกพจน์

anybody                         everybody                      someone
anyone                           everyone                       somebody
anything                         everything                      something
anywhere                       everywhere                     somewhere
each + singular N.           either + singular N.          neither + singular N.
each of + Plural N.           either of + Plural N.         neither of + plural N.

เช่น Continue reading

กรรมตรงและกรรมรองในภาษาอังกฤษ (Direct and Indirect object)

Direct and Indirect object

Direct and Indirect object

ในภาษาอังกฤษจะมีกริยาบางตัวที่มีกรรมได้ 2 ตัว ซึ่งก็คือ กรรมตรง (direct object) และกรรมรอง (Indirect object) กริยาในกลุ่มนี้ตัวอย่างเช่น buy, sell, send, tell, give, write, show, lend, bring, teach, offer, etc.

กรรมตรง หรือ direct object จะเป็น “สิ่งของ” ซึ่งอาจจะเป็นคำนามคำเดียว หรือเป็นกลุ่มคำก็ได้

กรรมรอง หรือ indirect object จะเป็น “คน” ซึ่งได้รับสิ่งของอย่างใดอย่างหนึ่งจากประธาน

ถ้าพูดเฉยๆอาจจะไม่เข้าใจว่าในประโยคจะวางกรรม 2 ตัวนี้ไว้ตรงไหน อะไร ยังไง ลองมาดูตัวอย่างประโยคกันดีกว่าค่ะ

  • Laila gave me a present for my birthday.
  • Laura told him her secret.

จะเห็นว่า ประโยคแรกมีกริยา gave ตามมาด้วยกรรมรองที่เป็นคนคือ me และกรรมตรงที่เป็นสิ่งของคือ a present และในประโยคที่สอง มีกริยา told โดยมี him เป็นกรรมรองและ her secret เป็นกรรมตรง

ประโยคที่เอากรรมรองขึ้นก่อนสามารถวางกรรมตรงที่เป็นสิ่งของต่อท้ายกรรมรองได้เลย โดยมีโครงสร้างแบบตัวอย่างข้างบนดังนี้คือ

โครงสร้างที่ 1       Subject + Verb + Indirect object + Direct object

แต่ถ้าเกิดอยากเอากรรมตรงที่เป็นสิ่งของขึ้นก่อนต้องเพิ่ม to หรือ for ไปหน้ากรรมรองด้วย โครงสร้างจะเป็นดังนี้ค่ะ

โครงสร้างที่ 2       Subject + Verb + Direct object + to / for + Indirect object

เช่น

  • My dad bought a car for me.
  • The manager usually sends an e-mail to his employees.

แต่ถึงจะมีโครงสร้างชัดเจนแล้ว ยังไง๊ยังไงก็มีข้อยกเว้นอยู่ดี คือ

**ถ้ากรรมตรงเป็น pronoun ห้ามใช้ โครงสร้างที่ 1 เช่น

I gave my friend it. – แบบนี้ผิดค่ะ ให้ใช้โครงสร้างที่สองแทน คือ

I gave it to my friend. – แบบนี้ถึงจะถูก

** โดยส่วนใหญ่แล้ว โครงสร้างที่ 1 จะใช้กันมาก แต่ถ้าหากกรรมรองมีข้อความมาขยายยาวมากๆ ก็ให้ใช้โครงสร้างที่ 2 เช่น

  • The host offered drinks to all the guests in the room.

all the guests in the room เป็นกรรมรองที่มีส่วนขยายยาวมากๆ ให้นำมาไว้ด้านหลังเพราะถ้าวางไว้หลังกริยาเลยจะทำให้สับสนได้

หรือในกรณีที่ต้องการเน้นก็ให้เอากรรมรองมาไว้ด้านหลัง เช่น

  • Send the book to Andy, or anyone else you like.

conjunctive adverb ในภาษาอังกฤษ

conjunctive adverb ในภาษาอังกฤษ

conjunctive adverb

เคยสังเกตมั้ยว่าเวลาที่เราเขียนบทความภาษาอังกฤษ  อ่านแล้วมันไม่สละสลวย  ฟังดูห้วนๆ  นั่นเป็นเพราะเราอาจจะขาดคำเชื่อมข้อความให้มันมีความต่อเนื่องกัน  กลุ่มคำที่อาจจะช่วยให้ข้อความของเราอ่านแล้วไม่ขาดตอนคือ  conjunctive adverb  ซึ่งก็คือ คำกริยาวิเศษณ์ที่ใช้ในการเชื่อมข้อความ  โดยมีจุดประสงค์ที่ใช้แตกต่างกันออกไป  เช่น  บางคำเชื่อมข้อความที่ขัดแย้งกัน  บางคำเชื่อมข้อความที่สอดคล้องกัน  ส่วนบางคำแสดงความเป็นเหตุเป็นผลกับข้อความก่อนหน้า  หรือบางคำแสดงการยกตัวอย่างหรือแสดงลำดับเวลา เป็นต้น  ก่อนที่จะไปดูว่า conjunctive adverb แต่ละประเภทมีอะไรบ้าง  เราไปดูวิธีการเขียนประโยคที่มี conjunctive adverb กันก่อน ซึ่งสามารถเขียนได้  3  แบบด้วยกันคือ

  • Alan stayed up late last night. Therefore, he went to work late this morning.
  • Alan stayed up late last night; therefore, he went to work late this morning.
  • Aland stayed up late last night. He, therefore, went to work late this morning.

แบบที่หนึ่ง เรียกได้ว่าแบบคลาสสิค  คือใช้ง่ายที่สุด เมื่อจบประโยคแรกแล้ว ประโยคต่อไปก็ขึ้นต้นด้วย therefore แล้วตามด้วย comma  แล้วตามด้วยประโยคที่แสดงความเป็นเหตุเป็นผลกับประโยคแรก

แบบที่สองนี่ก็เจอบ่อยเหมือนกันคือไม่ต้องมีการแยกประโยคอะไรให้วุ่นวาย จับมันรวมกันซะเลย  แต่ต้องมีตัวช่วยนิดนึงคือ ใส่ semicolon (;) ไว้หน้า therefore แล้วใส่ comma ปิดท้าย แค่นี้ก็เป็นอันเสร็จกระบวนการ

แบบที่สาม นี่แบบเก๋ๆ คือจบประโยคแรกไปก่อนเหมือนแบบที่หนึ่ง  แต่เราทำเก๋ด้วยการเอาประธานขึ้นก่อน แล้วค่อยใส่ therefore ตามหลังมา โดยมี comma คั่นหน้าคั่นหลัง แค่นี้ประโยคก็สุดแสนจะเก๋แล้ว

Conjunctive adverb แต่ละประเภทมีดังนี้ค่ะ
1.  ข้อความที่เสริมกันหรือเป็นการให้ข้อมูลเพิ่มเติม โดย แปลคล้ายๆกันว่า  นอกจากนี้  นอกเหนือจากนี้  เช่น in addition, moreover, furthermore, also, on top of that, above all, besides

The company will be downsizing.  Moreover, it will be moved to a new location.
Frank spent most of his life traveling around the world.  He, furthermore, has written many books about his experiences.

2.  ข้อความที่ขัดแย้งกัน เช่น however, nevertheless, still, yet, nonetheless, in contrast, on the contrary, on the other hand

I studied hard. Still, I didn’t pass the exam.
Your idea is good; however, it’s difficult to implement.

3.  ข้อความที่แสดงทางเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง  เช่น  or else, otherwise, if not

We must hurry up. Otherwise, we will miss the train.

It’s good that you attend the competition. Or else, you’ll never have a chance to do it anymore.

4. ข้อความที่แสดงความเป็นเหตุเป็นผลกัน  เช่น therefore, thus, accordingly, consequently, as a result, for this reason, then, hence  เป็นต้น

Tom is talking on the phone.  Thus, he isn’t paying attention to his son.
We had no food left at home; therefore, we went shopping.

5. ข้อความที่แสดงการยกตัวอย่าง เช่น for example, for instance, namely, in particular

You should eat healthy food, namely, brown rice, whole wheat bread, milk, fruits, and vegetables.

6. ข้อความที่พูดซ้ำความเดิมเพื่อให้เกิดความเข้าใจ เช่น in other words, that is to say, that is
The mobile library services have been reorganized to cut costs.  That is, they visit fewer places.

การใช้ Few, A few, Little, A little

การใช้ Few, A few, Little, A little

การใช้  Few, A few, Little, A little

ทั้งสี่คำนี้  Few, A few, Little, A little เป็นคำนำหน้านาม  แปลเหมือนกันคือแปลว่า  เล็กน้อย หรือ นิดหน่อย  เอาไว้บอกปริมาณคำนามว่ามีอยู่เพียงเล็กน้อยเท่านั้น  แต่ปัญหามันอยู่ตรงที่ว่า ทั้งสี่คำนี้มันเอาไปใช้ต่างกัน  ก่อนจะอธิบายวิธีการใช้ขอแยกคำทั้งสี่ออกเป็น 2 คู่ คือ Few / A few  และ Little / A little   โดยมีโครงสร้างการใช้ดังนี้ค่ะ

1.  Few / A few  ใช้นำหน้าคำนามนับได้พหูพจน์  เช่น

  • Few people attended the meeting yesterday.
    เมื่อวานนี้แทบจะไม่มีคนเข้าประชุมเลย
  • There are a few bottles of water left in the fridge.
    มีขวดน้ำเหลืออยู่ไม่กี่ขวดในตู้

Few กับ A few ถึงแม้จะแปลว่าเล็กน้อย นิดหน่อย  แต่ความหมายจะไม่เหมือนกันซะทีเดียวเพราะ  few จะให้ความหมายน้อยกว่า a few คือ few จะให้ความหมายว่า แทบจะไม่มีเลย  ส่วน a few  จะให้ความหมายว่ามีเพียงเล็กน้อย  แต่ก็ยังพอมีอยู่บ้าง  เพื่อให้เข้าใจมากขึ้นลองดูตัวอย่างประโยคข้างล่างนี้ค่ะ

  • She has few friends.
    เธอแทบจะไม่มีเพื่อนเลย
  • She has a few friends.
    เธอมีเพื่อนน้อย

สองประโยคนี้เวลาแปล  ความรู้สึกจะต่างกันเลย  การมีเพื่อนน้อย  ความหมายจะยังเป็นเชิงบวกอยู่  ส่วนการที่แทบจะไม่มีเพื่อนเลยฟังดูแล้วจะเป็นเชิงลบเสียมากกว่า

2.  Little / A little ใช้นำหน้าคำนามนับไม่ได้  เช่น

  • I didn’t buy that bag at Hong Kong because I had a little money then.
    ฉันไม่ได้ซื้อกระเป๋าใบนั้นที่ฮ่องกงเพราะตอนนั้นมีเงินอยู่แค่นิดเดียว
  • In summer, there is little water in the river.
    ในหน้าร้อน แทบจะไม่มีน้ำอยู่ในแม่น้ำสายนี้เลย
  • I always put little sugar in my coffee.
    ฉันมักจะใส่น้ำตาลนิ๊ดเดียวเท่านั้นในกาแฟ

ความหมายของ little และ a little ก็เหมือนกับ few และ a few คือ  little จะให้ความหมายน้อยกว่า a little คือ แทบจะไม่มีเลย  ในขณะที่ a little มีอยู่นิดหน่อยแต่อาจจะเพียงพอต่อความต้องการ

สรุปคือ!!  Few / A few + นามนับได้พหูพจน์  ส่วน Little / A little + นามนับไม่ได้  และ
ถ้ามี a นำหน้า  ความหมายจะเป็นเชิงบวก  แต่ถ้าไม่มี a นำหน้า  ความหมายจะเป็นเชิงลบ

Phrase (วลี)

Phrase (วลี)

Phrase  (วลี)
วลี หรือ phrase นั้นก็คือ  กลุ่มคำที่ประกอบด้วยคำตั้งแต่ 2 คำขึ้นไป  แต่ขาดประธานหรือขาดกริยา  จึงยังไม่เป็นประโยคที่สมบูรณ์   เพราะองค์ประกอบที่สมบูรณ์ของประโยคนั้นต้องประกอบด้วยทั้งประธานและกริยา จะขาดอันใดอันหนึ่งไปไม่ได้  แล้ววลีสำคัญยังไง??  ทำไมเราถึงต้องไปรู้จักเจ้าวลีหรือ phrase กันด้วย  เหตุผลก็คือ ถึงมันจะยังไม่ใช่ประโยค แต่มันก็เป็นส่วนหนึ่งของประโยค  ซึ่งก็คือ  มันจะไปทำหน้าที่ในส่วนของประธาน  กริยา  กรรม หรือส่วนเติมเต็ม  หรือทำหน้าที่ขยายกริยา  ขยายคำนามก็ยังได้

วลีในภาษาอังกฤษ เค้าก็มีการแบ่งออกเป็นประเภทเหมือนกันนะคะ  คือแบ่งออกเป็น 5 ประเภท  ดังนี้ค่ะ

1.  นามวลี   หรือที่ได้ยินผ่านหูกันบ่อยๆว่า Noun phrase  ชื่อของมันก็คือนามวลี  ดังนั้นคำหลักในกลุ่มคำนี้ก็หนีไม่พ้นต้องเป็น  คำนาม  โดยคำอื่นที่อยู่ร่วมกับมัน ไม่ว่าจะอยู่ข้างหน้าหรืออยู่ข้างหลัง  มันก็คือคำนำหน้าคำนามและคำขยาย ซึ่งคำนำหน้านามประกอบด้วย  article, คำนำหน้านามชี้เฉพาะ, คำนำหน้านามแสดงความเป็นเจ้าของ, คำแสดงปริมาณ และคำแสดงจำนวน   ฉะนั้น  สิ่งสำคัญ !  คือต้องหาคำนามหลักให้เจอ แล้วค่อยแปลส่วนขยายเพื่อที่เวลาอ่านจะได้ไม่หลุดประเด็นไปไกล  หน้าที่ของนามวลีในประโยคก็เหมือนกับคำนามทั่วไปเลย  คือ  เป็นประธาน กรรม หรือส่วนเติมเต็ม ในประโยค  ตัวอย่างของนามวลี เช่น

  • the solution of economical problems
  • three possible answers to this question
  • some water in that bucket

2.  กริยาวลี  หรือ verb phrase แน่นอนว่าคำหลักในวลีนี้คือ คำกริยา  ส่วนคำอื่นๆที่มาประกอบก็จะเป็นกริยาช่วยซึ่งในหนึ่งวลีก็อาจจะมีกริยาช่วยมากกว่า 1 ตัว  หน้าที่ของกริยาวลีคือทำหน้าที่เป็นกริยาในประโยค  ตัวอย่างของกริยาวลีในประโยคคือ

  • is sleeping
  • should have talked
  • will be eating

3.  คุณศัพท์วลี  หรือ adjective phrase  คือกลุ่มคำที่มีคำคุณศัพท์เป็นคำหลัก  ทำหน้าที่ขยายคำนามเหมือนกับคำคุณศัพท์ทั่วๆไป  เช่น

  • very comfortable
  • so tired

4.  กริยาวิเศษณ์วลี  หรือ adverb phrase คือกลุ่มคำที่มีคำกริยาวิเศษณ์เป็นคำหลัก  ทำหน้าที่ขยายคำกริยาในประโยค  เช่น

  • very slowly
  • really carefully
  • thoroughly indeed

5.  บุพบทวลี  หรือ prepositional phrase  คือวลีที่มีคำบุพบทเป็นคำหลัก  ซึ่งส่วนประกอบของบุพบวลีก็จะมี  บุพบท + ส่วนขยาย  ซึ่งส่วนขยายก็จะแบ่งออกเป็นส่วนขยายที่เป็น Noun phrase , Noun clause และ Gerund (Ving)

บุพบท + ส่วนขยายที่เป็น  Noun phrase เช่น

  • about the donation for the underprivileged

บุพบท + ส่วนขยายที่เป็น  Noun clause เช่น

  • for what you have done

บุพบท + ส่วนขยายที่เป็น  gerund เช่น

  • for coming

บุพบทวลี ทำหน้าที่ขยายคำนามในประโยค โดยการนำไปวางไว้ข้างหลังคำนามนั้น เช่น

  • The company needs expert in the field of English.

บุพบทวลี  ทำหน้าที่ขยายคำกริยาในประโยค  โดยวางไว้หลังคำกริยา  เช่น

  • My answer depends on who asks the question.

บุพบทวลี  ทำหน้าที่ขยายคำคุณศัพท์ โดยวางไว้หลังคำคุณศัพท์  เช่น

  • All Thai people are well aware of political conflict in the country.

บุพบทวลี  ทำหน้าที่ขยายประโยค  เช่น

  • In my opinion, the budget is insufficient to cover all the project.

นามนับได้และนามนับไม่ได้ (Countable and Uncountable Noun )

Countable and Uncountable Noun

Countable and Uncountable Noun

Countable Noun คือ คำนามที่นับได้  ส่วน Uncountable Noun คือคำนามที่นับไม่ได้  หลายคนมีปัญหากับการแยกแยะคำนามว่านับได้หรือนับไม่ได้  เพราะพี่ไทยกับพี่ฝรั่งดันมีมุมมองไม่เหมือนกันนี่สิ  มาดูความหมายของนามนับได้กับนับไม่ได้กันก่อนค่ะ

คำนามนับได้ หรือ Countable Noun คือ คำนามที่สามารถนับได้เป็นตัวๆ  เป็นชิ้นๆ  ว่ามีจำนวน 1 ชิ้น  2 ชิ้น
คำนามนับไม่ได้  หรือ Uncountable Noun คือ คำนามที่ไม่สามารถนับตัวของมันได้  เช่นคำนามที่เป็นของเหลว ต้องนับภาชนะที่บรรจุแทน  หรือมีจำนวนมากจนไม่สามารถนับได้  เช่น ผม (hair)  ข้าว (rice)  ทราย (sand)

พอมาดูความหมายแล้วก็เหมือนจะแยกได้ไม่ยากใช่มั้ยคะว่า นามอันไหนนับได้หรือนับไม่ได้  แต่พอไปเจอบางคำ  เช่น  paper กระดาษ,  soap สบู่  ทำไมฝรั่งเขาบอกว่ามันนับไม่ได้ล่ะ  ก็เห็นๆอยู่ว่านับได้ กระดาษ  1 แผ่น หรือ 2 แผ่น  สบู่  1 ก้อน หรือ 2 ก้อน   หลักการที่ใช้ในการแยกคร่าวๆ  จะเป็นแบบนี้ค่ะ
คำนามนับได้ มีหลายองค์ประกอบ  คือมีหลายส่วนมาประกอบกัน  เช่น  รถ (car) ก็ประกอบด้วยอะไหล่ชิ้นส่วนหลายส่วนมาประกอบกัน  คน (man, woman, boy, girl)  ก็ประกอบด้วยส่วนหัว  ส่วนตัว  แขน ขา  มารวมกัน  โต๊ะ  (table, desk) ก็ประกอบด้วย  ส่วนขา  ส่วนที่เป็นพื้นโต๊ะ  พอแยกส่วนออกมาก็จะมีชื่อเรียกไม่เหมือนเดิมแล้ว

แต่คำนามนับไม่ได้ จะมีเพียงองค์ประกอบเดียว  คือพอแยกส่วนออกมาก็ยังเหมือนเดิม เช่นสบู่ ถ้าตัดออกมากี่ก้อน ก็ยังคงเป็นเนื้อสบู่อยู่เหมือนเดิม  ยังเรียกว่า soap อยู่เหมือนเดิม  กระดาษถึงจะตัดออกมาออกมากี่ชิ้น ก็ยังเป็นกระดาษอยู่เช่นเดิม  แบบนี้ถือเป็นนามที่นับไม่ได้ค่ะ  จะว่าไปแล้วถ้าใช้วิธีนี้แยกนามนับได้หรือนับไม่ได้ก็น่าจะพอเป็นหลักในการแยกได้ดีทีเดียวเลย

หลักการใช้  คำนามนับได้ และ คำนามนับไม่ได้ มีดังนี้ค่ะ
1. Countable noun

–  คำนามนับได้มีทั้งคำนามเอกพจน์ (singular noun) คือ มีเพียงสิ่งเดียวหรืออันเดียวเวลานำไปใช้ ก็ใส่จำนวน  1 หรือ one ไว้ข้างหน้าก็ได้  หรือใช้ a หรือ an นำหน้าก็ได้ เช่น
a book, an elephant, one pen ก็มีความหมายว่า หนึ่งได้เช่นเดียวกัน  นอกจากนี้คำนามนับได้ยังเป็นคำนามพหูพจน์ (plural noun)ได้  คือมีหลายอัน หลายคน

หรือหลายชิ้น  และเติม s/es เข้าไปเพื่อบอกว่ามีจำนวนมากกว่าหนึ่ง  แต่บางคำจะมีการเปลี่ยนรูป เช่น
a man            two men
a tooth        three teeth

–  สามารถใช้จำนวนนับ (1, 2, 3,….) นำหน้าเพื่อบอกจำนวนได้  และคำนามตัวนั้นก็เติม s/es เพื่อให้เป็นคำนามพหูพจน์  เช่น
Two rooms            2  rooms
Fifteen boxes            15  boxes

เวลาถามจำนวนใช้      How many + คำนามพหูพจน์       เพื่อถามจำนวน เช่น

  • How many pencils do you want?
  • How many bottles do you have?

2. Uncountable Noun

–  คำนามนับไม่ได้เป็นได้แค่คำนามเอกพจน์เท่านั้น  จะไม่มีรูปพหูพจน์  เมื่อไม่มีรูปพหูพจน์ก็จะใส่จำนวนลงไปไม่ได้   เช่น

oil        จะไม่ใช้        two oil
paper        จะไม่ใช้        two paper

และจะใส่ a / an นำหน้าไม่ได้  แต่เราจะใส่ภาชนะเข้าไปด้วยเพื่อให้นับเป็นจำนวนได้  เช่น

  • Two bottles of oil
  • Five packs of salt
  • A loaf of bread

เวลาถามจำนวนใช้  How much + คำนามเอกพจน์  เพื่อถามจำนวน เช่น

  • How much water do you drink per day?
  • How much salt did you put in this soup?

น่าจะพอเข้าใจการแยกแยะและการนำเอา คำนามนับได้และนับไม่ได้ไปใช้แล้วใช่มั้ยคะ เวลาเรียนภาษาอังกฤษต้องนึกไว้เสมอว่าบางอย่างในความรู้สึกของเรา เอาไปใช้กับภาษาอังกฤษไม่ได้เพราะมุมมองของภาษาเรากับภาษาเค้ามันอาจจะต่างกันค่ะ

พจน์ของคำนาม (The Number of Nouns)

พจน์ของคำนาม (The Number of Nouns)

พจน์ของคำนาม (The Number of Nouns)

ในภาษาไทยไม่ว่าจำนวนของคำนามจะเป็นหนึ่งอันหรือมากกว่าหนึ่งอัน  รูปของคำนามนั้นก็เหมือนเดิมไม่เปลี่ยน เช่นถ้าบอกว่า  คนหนึ่งคน  กับ  คนสามคน  คำว่า “คน”  ก็ยังมีรูปเดิมไม่เปลี่ยนแปลง  แต่ในภาษาอังกฤษเรื่องเยอะกว่านั้น!!  เพราะคำนามจะมีการเปลี่ยนรูปหรือเติม s/es เข้าไปเมื่อมันมีจำนวนที่มากกว่าหนึ่ง   พจน์ของคำนามแบ่งออกเป็น 2 พจน์ ดังนี้

1.  เอกพจน์   (Singular)   หมายถึง  “หนึ่ง”  ดังนั้นนามเอกพจน์จึงหมายถึงนามที่มีแค่หนึ่งอัน  หนึ่งอย่าง  หนึ่งคน

2.  พหูพจน์   (Plural)  หมายถึง  “มากกว่าหนึ่ง”  ดังนั้นนามพหูพจน์จึงหมายถึงนามที่มีมากกว่าหนึ่งอัน  โดยนามนับได้เท่านั้นที่เป็นพหูพจน์ได้  ส่วนนามนับไม่ได้จะไม่มีรูปพหูพจน์

อย่างที่บอกไปแล้วว่า  ถ้านามนั้นเป็นพหูพจน์จะต้องเติม s/es หรือมีการเปลี่ยนรูป  ดังนั้นจึงมีกฎการเติม s/es ดังนี้ค่ะ

1.  ถ้าคำนามนั้นลงท้ายด้วย  s, ss,  sh, ch, x, o, z ให้เติม es  เช่น

class            classes
box            boxes
bush            bushes
mango        mangoes

**  ข้อยกเว้นสำหรับคำที่ลงท้ายด้วย  o  ถ้าหน้า o เป็นสระให้เติม s ได้เลย  เช่น

bamboo        bamboos
radio            radios

2.  ถ้านามนั้นลงท้ายด้วย f หรือ fe  ให้เปลี่ยน  f หรือ fe  เป็น v แล้วเติม  es  เช่น

wife            wives
knife            knives
wolf            wolves

3.  ถ้านามนั้นลงท้ายด้วย  y  ให้เปลี่ยน y เป็น i  แล้วเติม es  เช่น

baby            babies
fly            flies
lady            ladies

**  มีข้อยกเว้นอีกเช่นเคย!! ถ้าหน้า y เป็นสระ  ให้เติม s ได้เลย  เช่น

boy            boys
key            keys

4.  คำนามบางคำ เมื่อเป็นรูปพหูพจน์จะมีการเปลี่ยนรูป  เช่น

man            men
woman        women
mouse            mice
foot            feet
tooth            teeth

**  แต่คำบางคำ  รูปเอกพจน์กับรูปพหูพจน์เหมือนกันเลย คือไม่เติมอะไรใดๆทั้งสิ้น  เช่น  fish, deer, sheep  เป็นต้น

**  นอกจากนี้คำที่มาจากภาษาอื่น  เวลาเป็นพหูพจน์ก็มีรูปร่างหน้าตาไม่เหมือนเดิมอีกเช่นกัน  เช่น

nebula            nebulae
analysis        analyses
crisis            crises
thesis            theses
phenomenon        phenomena
criterion        criteria

แค่เรื่องพจน์อย่างเดียวก็เยอะขนาดนี้แล้ว  แต่เชื่อเถอะค่ะว่าถ้าได้ใช้บ่อยๆ  มันจะซึมเข้าสู่สมองเราเองโดยอัตโนมัติ  ลองฝึกบ่อยๆค่ะ

Determiners คือคำนำหน้านาม

Determiners คือ

Determiners

หลายคนพอได้ยินคำว่า determiner  ก็มึนๆกันไป  แต่จริงๆแล้ว determiner ก็ไม่ใช่อะไรใหม่  เรารู้จัก determiner กันอยู่แล้ว เพราะ determiner มันคือชื่อเก๋ๆของคำนำหน้านาม ที่เอาไว้บอกปริมาณ  บอกจำนวน  หรือบอกลักษณะอื่นๆอีก
Determiner แบ่งออกเป็น  4 ประเภทหลักๆ  ดังนี้ค่ะ

1.  Articles   :  Article (a, an, the)  นับเป็น  determiner ชนิดหนึ่ง  ใช้บอกปริมาณหรือจำนวน

1.1  A,An  ใช้นำหน้าคำนามทั่วไปนับได้เอกพจน์   มีความหมายว่ามีจำนวนหนึ่งอันหรือหนึ่งอย่าง

1.2  The  ใช้นำหน้านามเฉพาะทั้งที่นับไม่ได้ และนามนับได้พหูพจน์  เพื่อบอกว่านามนั้นเฉพาะเจาะจง  หรือมีการพูดถึงมาก่อนหน้านี้แล้ว หรือนามนั้นมีอนุประโยคมาขยาย

เช่น

  • A cat likes to eat fish.
    แมวชอบกินปลา
  • It takes an hour to go to Siam Paragon.
    ใช้เวลา 1 ชั่วโมงในการเดินทางไปสยามพารากอน

2.  Demonstrative :  คือคำนำหน้านามชี้เฉพาะ  (This, That, These, Those)  มีวิธีการใช้ดังนี้

This    ใช้กับนามเอกพจน์  ที่อยู่ใกล้ตัวผู้พูด
These   ใช้กับนามพหูพจน์  ที่อยู่ใกล้ตัวผู้พูด
That      ใช้กับนามเอกพจน์   ที่อยู่ไกลตัวผู้พูด
Those  ใช้กับนามพหูพจน์  ที่อยู่ไกลตัวผู้พูด

เช่น

  • This jacket isn’t mine.        เสื้อแจ๊คเก็ตตัวนี้ไม่ใช่ของฉัน
  • Those shoes are dirty.        รองเท้าคู่นั้นสกปรก

3.  Possessive Adjective  :  คำที่วางไว้หน้าคำนามเพื่อแสดงความเป็นเจ้าของ  (my, your, our, their, his, her, its)

เช่น

  • I have lost my keys.            ฉันทำกุญแจฉันหาย
  • He uses his cell phone.         เขาใช้โทรศัพท์มือถือของเขา

4.  Quantifiers  :  คือคำที่ใช้บอกปริมาณหรือจำนวน   เช่น  some, any, many, much, each, every, etc.

เช่น

  • There is some water in the bottle.
  • I don’t have much work today.
  • There aren’t any food left in the fridge.

การใช้ Whose ในการตั้งคำถาม

การใช้ Whose ในการตั้งคำถาม

การใช้ Whose ในการตั้งคำถาม

“Whose”  คำนี้อ่านออกเสียงว่า  “ฮูส”  แปลว่า  “ของใคร”  การตั้งคำถามโดยใช้  whose มีโครงสร้างดังนี้ค่ะ

โครงสร้างที่ 1 :  Whose + คำนาม (s/es) + is/are +………..?

**  คำนามหลัง  whose  คือคำนามที่เราต้องการถามหาเจ้าของ  ถ้าคำนามเป็นพหูพจน์ก็ให้เติม s/es  มาดูตัวอย่างประโยคกันค่ะ

  • Whose mobile phone is that?         นั่นโทรศัพท์มือถือใคร
  • Whose shoes are those?         นั่นรองเท้าใคร

หลัง is หรือ are เราอาจจะเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ก็ได้  เช่น

  • Whose car is in the garage?    รถใครอยู่ในโรงรถ
  • Whose dress is red?            ชุดใครสีแดง

เวลาตอบก็ใช้คำแสดงความเป็นเจ้าของ  ได้ทั้งที่เป็น  possessive adjective และ possessive pronoun  เช่น

A:  Whose jacket is this?
B:  It’s David’s. /  It’s mine.  /  It’s my jacket.

โครงสร้างที่ 2 :  Whose + คำนาม (s/es) + กริยาช่วย + ประธาน + กริยา
ในประโยคนี้มีคำกริยาหลักจึงต้องใช้กริยาช่วย    มาดูตัวอย่างประโยคกันค่ะ

A:  Whose bicycle did you ride yesterday?      เมื่อวานคุณขี่จักรยานของใคร
B:  I rode My dad’s bicycle.                ฉันขี่จักรยานของพ่อ

A:  Whose cell phone does Bill use?           บิลใช้โทรศัพท์มือถือของใคร
B:  He uses my cell phone.                เขาใช้โทรศัพท์ของฉัน

โครงสร้างที่ 3 :  Whose +  is / are + this/that/these/those + คำนาม (s/es)
เช่น

A:  Whose is this cat?        แมวตัวนี้ของใคร
B:  It’s Kate’s cat.             แมวตัวนี้ของเคท

** จะเห็นได้ว่า  Whose ใช้ได้ทั้งแบบที่เป็น  adjective คือมีนามตามหลังมาติดๆ  เช่น

  • Whose pen is this?

หรือ ใช้แบบ pronoun  คือไม่มีนามตามหลัง  เช่น

  • Whose is this pen?

ลองไปฝึกใช้กันดูนะคะ ^^

การใช้ who, whom ในการตั้งคำถาม

การใช้ who, whom ในการตั้งคำถาม

การใช้  who, whom ในการตั้งคำถาม

Who กับ Whom  มีหลายคนงงว่าใช้ยังไง  ในกรณีนี้จะพูดถึงเฉพาะการนำมาตั้งคำถามนะคะ   Who กับ Whom  แปลว่า  “ใคร”   โดย

Who ———–  ตั้งคำถามที่เป็นประธาน
Whom ——— ตั้งคำถามที่เป็นกรรม

ก่อนอื่นต้องมาทำความเข้าใจคำว่าประธาน กับ กรรม กันก่อน    ประธานคือผู้แสดงการกระทำ  ส่วน กรรม  คือผู้ถูกกระทำ   ลองเปรียบเทียบจากสองประโยคนี้ค่ะ

“ใครให้เงินคุณ?”          “คุณให้เงินกับใคร?”

ประโยคแรก  “ใครให้เงินคุณ?”    ใครเป็นประธาน  เพราะทำกริยา ให้   ฉะนั้นประโยคนี้เวลาจะถามต้องใช้  who  คือ

  • Who gave money to you?

ประโยคที่สอง  “คุณให้เงินกับใคร ?”    ใครเป็นกรรม  เพราะถูกให้เงิน  (รับการกระทำ)  เวลาถามประโยคนี้ต้องใช้  whom  คือ

  • Whom did you give money?

โครงสร้างในการตั้งคำถามที่ใช้  who  มักจะเป็น

Who + คำกริยา + (กรรม) + ………….?

เพราะเมื่อ who  ใช้ตั้งคำถามที่เป็นประธาน  ก็สามารถตามด้วยกริยาได้เลย  โดยเรียงลำดับคำเหมือนประโยคบอกเล่า   เช่น

  • Who loves you?
  • Who is sitting next to Josh?
  • Who ate my cake in the fridge?

แต่  Whom จะมีโครงสร้างดังนี้

Whom + กริยาช่วย + ประธาน + กริยา + …..?

แต่เมื่อใช้  Whom ในการสร้างประโยคคำถาม จะเรียงโครงสร้างเหมือนประโยคคำถามทั่วไปคือ   กริยาช่วยมาก่อนประธาน  เช่น

  • Whom were you talking to when I arrived here?
  • Whom did you see last night?
  • Whom will you go with?

แต่ถ้าเป็นภาษาพูดทั่วๆไป  ฝรั่งอาจจะใช้ who แทน whom ไปเลยก็ได้ ไม่แยกว่าใครเป็นประธานเป็นกรรมให้วุ่นวาย  เพราะเข้าใจได้เหมือนกัน (ฝรั่งเขาก็แอบขี้เกียจนะเออ!)  แต่ถ้าจะให้เป๊ะไวยากรณ์จริงๆ  ก็จะแยกใช้ who กับ whom  ค่ะ  ส่วนใหญ่มักเจอในภาษาเขียนมากกว่า  เพราะเวลาพูดการจะมาแยก ประธาน กรรม แล้วต้องมาเรียงประโยคอีก  ลำดับคำอีก  กว่าจะพูดจบคนฟังก็ไปซะแล้ววววว  เอาที่สบายใจเถอะค่ะ ^^