Category Archives: ไวยากรณ์ภาษาอังกฤษ

การใช้ modal verb + have

modal verb + have

การใช้ modal verb + have

รูปประโยคที่เป็น modal verb + have +V3 นั้นดูเหมือนมันจะคล้ายๆกับ perfect tense เลยคิดไปว่ามันน่าจะใช้เหมือนกับ perfect tense กันล่ะสิใช่มั้ย แต่เปล่าเลย!! มันใช้ต่างกันค่ะ   มาดูกันสิว่าประโยคที่ว่านี้มันมีหน้าตาเป็นอย่างไร

1. could have + V3
2. would have + V3
3. should have + V3
4. must have + V3

1. การใช้ could have + V3 ใช้เพื่อบอกว่าเหตุการณ์นี้ไม่ได้เกิดขึ้นในอดีต เพียงแต่เพื่อจะบอกว่าถ้าเราอยากให้เกิดขึ้น เราก็สามารถทำให้มันเกิดขึ้นได้ เพียงแต่เราเลือกที่จะไม่ทำ เช่น

  • He could have graduated from high school if he tried harder.
    เขาสามารถจะเรียนจบม.ปลายได้ถ้าเขาพยายามมากกว่านี้
  • I could have fired you but I don’t want to.
    ฉันสามารถที่จะไล่คุณออกได้แต่ก็ไม่อยากที่จะทำแบบนั้น

2. การใช้ should have + V3 ใช้เพื่อบอกเหตุการณ์ในอดีตว่าควรจะเกิดขึ้นหรือน่าจะเกิดขึ้นแต่ มันก็ไม่ได้เกิดขึ้น

  • I should have brought an umbrella with me.
    (ฉันน่าจะเอาร่มมาด้วย) แต่ไม่ได้เอามา และตอนนั้นฝนอาจจะตกหนัก
  • You shouldn’t have said like that.
    คุณไม่น่าจะพูดอย่างนั้นเลย

3. การใช้ would have + V3 ใช้เมื่อต้องการบอกว่าเหตุการณ์นี้ไม่ได้เกิดขึ้นในอดีต แต่เกือบจะเกิดขึ้นแล้วถ้าไม่เพราะสาเหตุบางอย่าง ซึ่งต่างกับ could have ตรงที่มันไม่เกิดขึ้นก็เพราะเราเลือกที่จะไม่ทำให้มันเกิดขึ้น เช่น

  • Tony would have punched that guy. He is so rude.
    โทนี่เกือบจะได้ต่อยผู้ชายคนนั้นซะแล้ว เขาหยาบคายเอามากๆ

4. การใช้ must have + V3 ใช้พูดถึงเหตุการณ์ที่เราเชื่อมั่นว่ามันต้องเป็นอย่างนั้นอย่างแน่นอน เพราะอาจจะมีหลักฐานบางอย่างหรือข้อมูลบางอย่างที่ทำให้เราเชื่อเช่นนั้น เช่น

  • They must have gone home already. Nobody is there.
    พวกเราต้องกลับบ้านไปแล้วแน่ๆ ไม่มีใครอยู่เลย
  • He must have lost the game. He looks tired.
    เขาต้องแพ้เกมนี้แน่ๆเลย เขาดูเหนื่อยๆ

Modal verb ที่ต่างกันก็ให้ความหมายที่ต่างกันออกไป แรกๆอาจจะใช้ไม่คล่อง แต่ถ้าฝึกบ่อยๆจนชินก็จะคล่องขึ้นอย่างแน่นอนค่ะ

การใช้ apostrophe s ( ’s )

apostrophe s ( ’s )

การใช้ ’s ในกรณีต่างๆ
เหมือนจะง่ายๆนะคะ การใช้ apostrophe s ( ’s ) เนี่ย แต่พอไปเจอหลายๆแบบเข้าก็ชักจะมึนอยู่เหมือนกัน มาดูกันสิว่า apostrophe s ( ‘s ) ตัวเดียวตัวเนี้ย มันเอาไปใช้ทำอะไรได้บ้าง

1. ใช้แสดงความเป็นเจ้าของ เช่น

  • That is Elena’s pencil box.
    นั่นมันกล่องดินสอของเอเลน่า
  • These new trainers are Mario’s.
    รองเท้ากีฬาใหม่คู่นี้เป็นของมาริโอ้

** หลัง ‘s มักจะเป็นคำนาม เพื่อบอกว่าสิ่งของนี้เป็นของใคร

2. ใช้เป็นรูปย่อของกริยาช่วย is และ has เช่น

  • It’s really hot these days.  ย่อมาจาก It is really hot these days.
  • She’s been here for a while. ย่อมาจาก She has been here for a while.
  • He’s got two big houses. ย่อมาจาก He has got two big houses.

** ปัญหาคือ จะแยกอย่างไรว่าเป็น is หรือ has วิธีการดูก็คือ คำที่ตามหลัง ‘s ที่เป็น is มักจะเป็น

is + คำนาม
is + คำคุณศัพท์
is + Ving (present continuous tense)
is + V3 ที่มีความหมายเป็น passive voice

ส่วน has มักจะตามหลังด้วย

has + V3   (Present perfect tense)
has + been + Ving (Present perfect continuous tense)
has + got (ในความหมายว่า มี )

3. ใช้ ‘s เมื่อต้องการให้คำนามจำพวก ตัวอักษร อักษรย่อ หรือตัวเลข เป็นพหูพจน์ เช่น ต้องการบอกว่า มี A หลายตัว ก็จะเขียนว่า A’s   มี เลข 5 หลายตัวก็คือ 5’s แต่ในบางกรณีเช่น มีอักษรหลายๆตัว เขาจะเติม s ไปเลยก็มี คือ ABCs

4. ใส่ไว้หลังปี ค.ศ. เช่น

70’s หรือ ยุค 70 คือปี 1961-1970
90’s หรือ ยุค 90 คือปี 1981-1990
1990’s     1980’s

หรือบางคนจะใส่ s อย่างเดียวแต่ไม่ใส่ apostrophe ก็ได้เช่นกันค่ะ

ดูไปดูมา การใช้ apostrophe s (‘s) ก็ไม่ใช่เรื่องเล็กๆซะแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อต้องแยกระหว่าง การแสดงความเป็นเจ้าของหรือการเป็นรูปย่อของกริยาช่วย เราจะใช้คล่องก็ต่อเมื่อเราใช้บ่อยๆค่ะ ^^

การใช้ Direct and Indirect Speech ตอนที่2

Direct and Indirect Speech

Direct and Indirect Speech (2)
ในตอนที่ 1 ได้พูดเกี่ยวกับ direct speech และการเปลี่ยนประโยคบอกเล่าและปฏิเสธของ direct speech เป็น indirect speech  ในตอนที่ 2 นี้เราจะมาต่อกันที่ การเปลี่ยนเป็น indirect speech ในประโยคคำถามและประโยคคำสั่งและขอร้อง

หลักการเปลี่ยนประโยคคำถามเป็น indirect speech

ในการเปลี่ยนประโยคคำถามจะแบ่งออกเป็น 2 ลักษณะคือ
1. ประโยคคำถามที่เป็น Yes/No question

ในประโยคคำถามเราจะไม่ใช้กริยาในประโยคหลักเป็น say/said แล้ว แต่จะใช้เป็น ask, inquire, want to know หรือ wonder แทน ส่วน Tense ก็จะมีการเปลี่ยนเช่นเดียวกับประโยคบอกเล่า

ในประโยคคำถามจะใช้ if, whether, whether…or not หรือ whether or not ในการเชื่อมประโยคแทน และจะไม่ใส่เครื่องหมาย ? ท้ายประโยค รูปประโยคจึงมีหน้าตาเหมือนกับประโยคบอกเล่าธรรมดา แต่มีความหมายเป็นคำถาม ตัวอย่างเช่น

  • The reporter asked if his union had agreed the new pay deal.
  • Sarah wanted to know that whether the Minister had answered her questions or not.
  • He wondered if that soup tasted good.

2. ประโยคคำถามที่ขึ้นต้นด้วย Wh-question
คำกริยาหลักในประโยคยังคงเหมือนกับแบบ Yes/No question เพียงแต่ใช้คำแสดงคำถามหรือ Wh-question words เข้ามาเชื่อมประโยคแทน และการเรียงลำดับคำในประโยคจะเรียงเหมือนกับประโยคบอกเล่า (ประธาน + (กริยาช่วย) + กริยา + กรรม) จะไม่เหมือนการเรียงประโยคคำถาม ( Wh-words + กริยาช่วย + ประธาน + กริยา) เช่น

Direct speech :   He said to me, “Where is my bag?”
Indirect speech : He asked where his bag was.

Direct Speech:   She said to him, “How did you make it?”
Indirect Speech: She asked him how he had done it.

หลักในการเปลี่ยนประโยคคำสั่ง อนุญาต เสนอแนะ และขอร้องเป็น Indirect speech

หลักในการเปลี่ยนก็จะมีการเปลี่ยน tense เช่นเดียวกัน แต่คำกริยาหลักในประโยคจะเปลี่ยนเป็นกริยาดังต่อไปนี้

ask (ร้องขอ)             command (สั่ง)                 order (สั่ง)
advice (แนะนำ)       propose (แนะนำ)              warn (เตือน)
forbid (สั่งห้าม)

เราจะใช้ to + V1 ในการขอร้อง แนะนำ บอก หรือ สั่งให้ทำ ถ้าเป็นปฏิเสธให้ใช้
not to + V1  อีกประการหนึ่งก็คือถ้าประโยค Direct Speech นั้นไม่มีกรรม ให้เติมกรรมลงไปในประโยค Indirect Speech ด้วย และถ้าหากมีคำว่า “please” ในประโยค Direct Speech ให้ตัดทิ้งด้วยเช่นกัน เช่น

Direct Speech:   He asked, “Please let me go to the party.”
Indirect Speech: He asked me to let her go to the party.

Direct Speech:   Doctor advised, “Don’t smoke”
Indirect Speech: Doctor advised me not to smoke.

ครบถ้วนกระบวนความการรายงานคำพูดหรือข้อความแล้วค่ะ กฎระเบียบเยอะเหมือนกัน แต่ถ้าเราจับประเด็นได้ก็จะไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไปค่ะ ^^

การใช้ Direct and Indirect Speech ตอนที่1

Direct and Indirect Speech

Direct and Indirect Speech (1)

ในบางครั้ง เราอาจจะต้องยกคำพูดของคนอื่นขึ้นมาพูด ซึ่งการพูดในลักษณะนี้จะแบ่งออกเป็น 2 ประเภทด้วยกันคือ   Direct speech   และ Indirect speech

1. Direct speech – คือ การยกเอาคำพูดคนอื่นมาพูดแบบตรงๆ โดยไม่มีการเปลี่ยนโครงสร้างของประโยคแต่อย่างใด ประโยคแบบนี้จะมีตัวช่วยตัวหนึ่งคือ เครื่องหมาย Quotation mark หน้าตาเป็นแบบนี้ “……” ตัวอย่างเช่น

  • Emma said, “I will wash all the dishes.”

หรือสลับตำแหน่งกันก็ได้    “ I will wash all the dishes,” Emma said.

** ข้อสังเกตก็คือ หลังประโยคหลักจะคั่นด้วย comma เสมอ และประโยคในเครื่องหมาย quotation mark จะขึ้นต้นด้วยตัวพิมพ์ใหญ่เสมอ แต่ในประโยคตัวอย่างที่สองถ้าเอาประโยคที่เป็นคำพูดไว้ด้านหน้าและใส่ชื่อคนพูดไว้ด้านหลัง เวลาที่จบประโยคในเครื่องหมายคำพูดให้ใส่ comma แล้วค่อยปิดท้ายด้วย quotation mark แล้วจึงใส่ชื่อคนพูด ตบท้าย

2. Indirect speech – คือ การยกเอาคำพูดของผู้อื่นขึ้นมาพูด ลักษณะเหมือนเป็นการรายงานหรือปรับรูปประโยคให้เป็นเหมือนคำพูดของผู้เล่าเอง ในลักษณะนี้จึงมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประโยคเดิม   Indirect speech แบ่งออกเป็น 3 ประเภทด้วยกันคือ

2.1 Indirect speech – statement คือการรายงานประโยคบอกเล่าหรือปฏิเสธ
2.2 Indirect speech – commands, requests and suggestions คือ การรายงานประโยคที่เป็นประโยคขอร้อง ประโยคคำสั่ง หรือ ขออนุญาต
2.3 Indirect speech – question คือการรายงานประโยคที่เป็นคำถาม

หลักการเปลี่ยน Indirect speech – statement Continue reading

Indefinite Pronoun (สรรพนามที่ไม่ชี้เฉพาะ)

Indefinite Pronoun (สรรพนามที่ไม่ชี้เฉพาะ)

สรรพนามที่ไม่ชี้เฉพาะ Indefinite Pronoun

Indefinite Pronoun คือ คำสรรพนามที่ไม่ชี้เฉพาะเจาะจง โดยแทนคำนามทั่วๆไป โดยไม่ได้เจาะจงว่าเป็นใครหรือเป็นคนไหน Indefinite pronoun บางคำใช้อย่างเอกพจน์ บางคำใช้อย่างพหูพจน์ ดังต่อไปนี้ค่ะ

1. Indefinite Pronoun ที่ใช้เป็นเอกพจน์เสมอ เช่น

Everyone                Everybody               Everything
Someone                Somebody               Something
No one                    Nobody                    Nothing
Anyone                   Anybody                   Anything
Each                       Either                       Neither

สรรพนามเหล่านี้เมื่อใช้อย่างเอกพจน์ ดังนั้นกริยาที่ใช้กับสรรพนามเหล่านี้ก็ต้องเป็นเอกพจน์ด้วย เช่น

  • Nobody is home.
    ไม่มีใครอยู่บ้านเลย

(** การใช้ No one , Nobody และ Nothing เนื่องจากว่ามันมีความหมายเป็นปฏิเสธอยู่แล้ว ดังนั้นประโยคจึงเป็นบอกเล่า ไม่ต้องเป็นปฏิเสธอีก เพราะมันจะให้ความหมายที่เป็นปฏิเสธ ซ้ำซ้อน เช่น ถ้าเราเขียนว่า Nobody isn’t home. แปลว่า ไม่มีใครไม่อยู่บ้าน ซึ่งก็มีความหมายเดียวกันกับประโยค Everybody is home. ทุกคนอยู่บ้าน)

  • Someone is knocking the door.
    มีใครบางคนกำลังเคาะประตู
  • Everything seems to be fine so far.
    จนถึงตอนนี้ทุกอย่างก็ยังปกติดีอยู่
  • Each player has five cards.
    ผู้เล่นแต่ละคนจะได้การ์ด 5 ใบ

ในกลุ่มของคำที่ลงท้ายด้วย -one, -body และ –thing เราสามารถใส่ else ต่อท้าย โดยจะหมายถึง คนอื่นๆ หรือ สิ่งอื่นๆ เช่น

  • Do you want anything else?
    คุณต้องการอะไรอย่างอื่นอีกมั้ย
  • No one else can love you like I do.
    ไม่มีใครคนอื่นที่จะรักเธอได้อย่างฉันอีกแล้ว

2. Indefinite Pronoun ที่ใช้อย่างพหูพจน์เสมอ เช่น Both,  Few, Many,  Several

  • Both are great work.
    ทั้งสองอันเป็นผลงานที่เยี่ยมยอดทั้งคู่
  • Few attend the meeting.
    มีไม่กี่คนที่เข้าร่วมประชุม
  • Several problems are already solved.
    หลายๆปัญหาได้รับการแก้ไขแล้ว

3. Indefinite Pronoun บางคำเป็นได้ทั้งเอกพจน์และพหูพจน์ขึ้นอยู่กับว่าจะใช้แทนคำนามอะไร เช่น  All, Some,  None

  • I have three houses. All are in America.
  • Some of this money is yours.

Subject and Object Pronoun ในภาษาอังกฤษ

Subject and Object Pronoun ในภาษาอังกฤษ

Subject and Object Pronoun

Pronoun หรือ คำสรรพนาม คือคำที่ใช้แทนคำนามในกรณีที่เราได้พูดคำนามนั้นมาก่อนหน้าแล้ว และไม่อยากพูดซ้ำ จึงใช้คำสรรพนามแทน ในที่นี้จะพูดถึง บุรุษสรรพนามหรือ personal pronoun ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ subject and object pronoun ดังนี้

Subject pronoun                      Object pronoun

I                                                 me

You                                            you

We                                             us

They                                           them

He                                              him

She                                             her

It                                                it

subject pronoun ใช้แทนคำนามที่เป็นประธานในประโยค ส่วน object pronoun ใช้แทนคำนามที่เป็นกรรม ประโยคตัวอย่างเช่น

  • Look at my new trainers! They are awesome.
    ดูรองเท้ากีฬาคู่ใหม่ของฉันสิ มันสุดยอดไปเลย

( They เป็น subject pronoun ที่ใช้แทนคำนาม trainers คือรองเท้ากีฬา สิ่งของที่เป็นพหูพจน์ ก็ใช้ they ได้)

  • That is Mrs. Jones. I like her very much because she is so kind.
    นั่นน่ะคุณนายโจนส์ ฉันชอบเธอมากๆเลยเพราะเธอใจดี

( her เป็น subject pronoun แทนคำนาม Mrs. Jones และ she เป็น subject pronoun แทน Mrs. Jones เช่นกัน

การใช้ personal pronoun ดูเหมือนจะไม่ยาก แต่ถ้าเกิดบังเอิญต้องไปใช้ตามหลังคำเหล่านี้ ก็จะเกิดปัญหาขึ้นว่าจะใช้เป็น subject หรือ object pronoun ดี

1. ถ้าตามหลัง verb to be ในประโยคต่อไปนี้ให้ใช้ object pronoun

This is……../ It is…../ That’s……

เช่น

  • Look at the picture. This is me standing with the Prime Minister.
  • Who broke the window?    It’s him.

2. แต่ถ้าตามหลัง Verb to be โดยอยู่ในรูปประโยคต่อไปนี้ ให้ตามได้ทั้ง subject หรือ object pronoun แล้วแต่ว่าความหมายอยู่ในลักษณะผู้กระทำหรือผู้ถูกกระทำ เช่น

  • It is only she who can speak English here. (she เพราะเป็นผู้กระทำ)
  • It was I who broke the window.  ( I เพราะเป็นผู้ทำหน้าต่างพัง)
  • It is him whom she loves. ( him เพราะ เป็นผู้ถูกกระทำ)
  • It was her whom I saw last night. ( her เพราะเป็นผู้ถูกกระทำ)

เช่นเดียวกับสรรพนามที่ตามหลังคำว่า except ถ้าใช้อย่างประธานก็ให้ใช้ subject pronoun แต่ถ้าใช้อย่างกรรม ก็ให้ใช้ object pronoun เช่น

  • No one except her whom I asked for marrying.
  • No one except she who can solve this problem.

3. สรรพนามที่ตามหลังคำว่า Let ในความหมายว่า อนุญาต/ปล่อยให้/ยอมให้   ให้ใช้ object pronoun เสมอ เช่น

  • Don’t let him do what he wants   อย่าปล่อยให้เขาทำสิ่งที่เขาต้องการ
  • Let me introduce myself.   ขอผมแนะนำตัวเองหน่อยนะครับ

4. สรรพนามที่ตามหลัง than หรือ as…..as จะใช้ subject หรือ object pronoun ก็ได้ แล้วแต่ความหมายที่ต้องการพูดถึง เช่น

  • I love you more than he.    ผมรักคุณมากกว่าที่เขารัก(คุณ)
  • I love you more than him.   ฉันรักคุณมากกว่าเขา

ประโยคแรก he เป็นประธาน เพราะอยู่ในฐานะที่ไปรักคุณเหมือนกัน แต่ฉันรักมากกว่า แต่ประโยคที่สอง him เป็นกรรม เพราะเป็นการเปรียบเทียบว่าระหว่างคุณกับเขา ฉันรักคุณมากกว่ารักเขา เขาจึงใช้สรรพนามที่เป็นกรรม

  • I am as good at swimming as she.  ฉันว่ายน้ำเก่งพอๆกับหล่อน
  • I like you as much as him.   ฉันชอบคุณพอๆกับที่ชอบเขา

5. สรรพนามที่ตามหลัง but ที่แปลว่า “นอกจาก หรือ ยกเว้น” ให้ใช้รูป subject pronoun เสมอ เช่น

  • All but he pass the exam.  ทุกคนสอบผ่านยกเว้นเขา

6. สรรพนามที่ตามหลัง between ต้องใช้ object pronoun เสมอ เช่น

  • Between you and me, there should be no secret.
    ระหว่างเธอกับฉัน ไม่ควรมีความลับต่อกัน
  • The Prime Minister is standing between him and me.
    นายกรัฐมนตรียืนอยู่ระหว่างเขากับฉัน

กลวิธีการเขียนภาษาอังกฤษ : การขยายความประโยค

การขยายความประโยค

กลวิธีการเขียน : การขยายความประโยค

หลายคนบ่นปวดหัวกับการเขียนภาษาอังกฤษซะเหลือเกิน เพราะโครงสร้างแกรมม่าร์เยอะแยะมากมาย อันที่จริงองค์ประกอบของประโยคก็มีแค่ประธานกับกริยา แต่ทำไมประโยคที่คนอื่นเขียนถึงย๊าวยาวเป็นกิโล นั่นเป็นเพราะเขาใช้ส่วนขยายค่ะ การขยายความประโยคแบ่งออกเป็น

  1. การขยายความประธานหรือกรรมในประโยค
  2. การขยายความกริยา
  3. การขยายความประโยค

1. การขยายประธานหรือกรรม ทำได้โดยการเพิ่มคำคำเดียว วลีหรือประโยคย่อย เพื่อขยายคำนาม เช่น

1.1 แบบคำเดียว มักใช้เป็นคำคุณศัพท์หรือคำนามขยาย ส่วนมากจะวางไว้หน้าคำนาม เช่น

  • Thank you for your kind cooperation.
  • We have announced a job opening for the position of English teacher.

1.2 แบบวลี มีหลายประเภท ดังนี้

– การใช้ present participial phrase (วลีที่ขึ้นต้นด้วยกริยาเติม ing) ใช้ขยายความเมื่อบุคคลหรือสิ่งที่ถูกขยายนั้นเป็นผู้กระทำ เช่น

  • Suffering from an insufficient budget, the school is now deciding to increase the fee.
  • The school, suffering from an insufficient budget, is now deciding to increase the fee.

– การใช้ past participial phrase (วลีที่ขึ้นต้นด้วยกริยาช่อง 3) ใช้ขยายความเมื่อบุคคลหรือสิ่งที่ถูกขยายนั้นเป็นผู้ได้รับผลการกระทำ เช่น

  • Thank you for your invitation letter submitted to us last Friday.

ประโยคนี้ submitted to us last Friday ขยายคำนาม invitation letter

  • Shocked by the death of her dog, my sister keeps crying all day.

ประโยคนี้ shocked by the death of her dog ขยายคำนาม my sister

– การใช้ prepositional phrase โดยมักเขียนไว้ต่อจากประธานหรือกรรมที่ต้องการอธิบาย เช่น

  • Our organization needs more expert in the field of English.

– การใช้ infinitive phrase (วลีที่ขึ้นต้นด้วย to infinitive) เช่น

  • Teachers have a lot of work to do.
  • The document, to be submitted with the application, should be sent to our office no later than June 15.

-การใช้ appositive คือนามวลีที่วางไว้หลังคำนามที่ต้องการขยาย เช่น

  • Rooney, a famous football player, will come to Thailand next week.

1.3 แบบประโยคย่อย ซึ่งการขยายคำนามโดยใช้ประโยคย่อยอาจใช้ adjective clause หรือ relative clause เช่น

  • Everyone must attend the meeting which will be held on Monday.

The man who is standing under the tree is my brother.

2. ขยายกริยาของประโยค สามารถทำได้โดยการใช้ adverb หรือ adverb phrase (กริยาวิเศษณ์วลี) หรือ adverb clause เช่น

  • The door is suddenly opened.   ขยายด้วยกริยาวิเศษณ์
  • We appreciate your help very much.    ขยายด้วยกริยาวิเศษณ์วลี
  • I could use Photoshop program when I was in high school.   ขยายด้วยประโยคย่อยที่เป็นกริยาวิเศษณ์

3. การขยายประโยคทั้งประโยค ทำได้โดยการใช้ conjunctive adverb หรือ คำกริยาวิเศษณ์ในการขยายประโยค เช่น

  • Inevitably, the flight must be postponed due to weather’s problem.
  • In conclusion, this project is a great success of the department.

Linking Verb คือกริยาที่ใช้แสดงสภาพ หรือความรู้สึกของประธาน

Linking Verb

Linking Verb

เอาอีกแล้ว หนีไม่พ้นเรื่อง verb อีกแล้ว มีหลายชนิดหลายประเภทซะเหลือเกิน คราวนี้เป็นเรื่อง Linking verb ค่ะ Linking verb คืออะไร? มันก็คือคำกริยาประเภทหนึ่งเอาไว้แสดงภาพหรือแสดงความรู้สึกของประธาน ถ้าพูดให้ง่ายหน่อยก็คือมันไม่ได้บอกการกระทำเหมือน action verb ตัวอื่นๆ แต่เอาไว้อธิบายหรือเพิ่มเติมรายละเอียดให้ประธานหรือขยายประธานนั่นเอง ปกติแล้ว verb ที่แสดงการกระทำหรือ action verb ทั่วๆไป ถ้าเป็น transitive verb หรือกริยาที่ต้องการกรรมก็จะมีกรรมตามหลัง หรือถ้าเป็น intransitive verb กริยาที่ไม่ต้องการกรรม ก็อาจจะมีส่วนขยายพวกกริยาวิเศษณ์ (adverb) หรือ บุพบทวลี (prepositional phrase) มาขยาย แต่ Linking verb ไม่ได้มีกรรมมารองรับค่ะ แต่คำที่ตามหลังมันมาจะเป็นคำคุณศัพท์ เพราะเหตุที่ว่ามันไปขยายคำนามหรือประธานตัวนั้นๆว่าเป็นอย่างไร หรือรู้สึกอย่างไร มีลักษณเป็นอย่างไร

ตัวอย่างของกริยา Linking verb ก็เช่น

look              ดู                            sound                   ฟังดู
taste             มีรสชาติ                 become                กลายเป็น
turn              กลายเป็น               remain                 ยังคง
feel               รู้สึก                         smell                   มีกลิ่น
appear          ปรากฏ                   stay                      ยังอยู่

แต่จะเห็นว่าบางคำถ้ามองแบบเผินๆจะเป็นได้ทั้ง action verb และ linking verb งานเพิ่มอีกแล้วค่ะ!! แล้วมันดูยังไง? ลองดูประโยคต่อไปนี้ค่ะ

  • She looks sad.    เธอดูเศร้าๆ

ประโยคนี้ look ไม่ได้เป็น action verb ที่แปลว่า มองดู ไม่ได้แปลว่า เธอมองดูไปที่ความเศร้า แต่อย่างใด แต่เป็น linking verb ที่บอกสภาพของ she ว่า ดูเศร้าๆ

  • She looks at the window.   เธอมองไปที่หน้าต่าง

ประโยคนี้ look เป็น action verb แสดงกริยาอาการ มอง ว่า เธอมองไปที่หน้าต่าง ลองดูตัวอย่างประโยคอีกหนึ่งประโยคค่ะ

  • It tastes good.   มันมีรสชาติดี
  • I taste the soup.    ฉันชิมซุป

taste ในประโยคแรก แปลว่า “มีรสชาติ” ซึ่งไม่ใช่กริยาที่บอกอาการการกระทำ แต่บอกลักษณะหรือสภาพของประธานว่า มีรสชาติดี มีรสชาติอร่อย
แต่ taste ในประโยคที่สอง เป็นกริยาที่บอกการกระทำ แปลว่า “ชิม” taste ในประโยคนี้จึงไม่ใช่ linking verb

วิธีสังเกตง่ายๆอีกวิธีหนึ่งคือ ถ้าเราเอา verb to be ไปแทนที่กริยาที่เป็น linking verb ความหมายประโยคจะไม่เปลี่ยนไปจากเดิม เช่น

She looks sad.         เปลี่ยนเป็น               She is sad.

ความหมายก็ยังคงเหมือนเดิมคือ แปลว่า เธอเศร้า     แต่ถ้าเป็น

She looks at the window.      เปลี่ยนเป็น    She is at the window.

ความหมายจะไม่ได้แปลว่าเธอมองไปที่หน้าต่างแล้ว แต่แปลว่า เธออยู่ที่หน้าต่างแทน ดังนั้นความหมายเปลี่ยน look จึงไม่ใช่ linking verb

ตัวอย่างการใช้ linking verb ค่ะ

  • Your plan sounds great.
    แผนของคุณฟังดูเยี่ยมมากเลย
  • My sister remains sad after her dog died.
    น้องสาวของฉันยังเศร้าอยู่หลังจากหมาเธอตาย
  • I felt bored when I was in the meeting yesterday.
    ฉันรู้สึกเบื่อตอนที่อยู่ในที่ประชุมเมื่อวาน

กริยา Regular และกริยา Irregular ในภาษาอังกฤษ

กริยา Regular และ Irregular

Regular and Irregular Verb

คำกริยาในภาษาอังกฤษ ถือเป็นหัวใจสำคัญเลยก็ว่าได้ เพราะมีบทบาทคอยกำกับประโยคว่าจะเป็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างไร ตอนไหน ในภาษาอังกฤษแบ่งคำกริยาออกเป็น Regular verb ซึ่งก็คือ กริยาปกติ และ Irregular verb ซึ่งก็คือ กริยาไม่ปกติ วิธีการดูเราจะดูอย่างไร?  เราก็ดูตอนที่เป็นกริยารูปอดีตนั่นเองค่ะ กริยารูปอดีตก็คือกริยาช่องที่ 2 ซึ่งในภาษาอังกฤษมีกริยาอยู่ 3 ช่อง แต่อย่าไปพูดว่า กริยาช่องที่ 1 ช่องที่ 2 และช่องที่ 3 กับฝรั่ง นะคะ เพราะเขาไม่รู้จักกริยา 3 ช่อง แต่กริยาช่องที่ 1 เขาจะเรียกว่า based form กริยาช่องที่ 2 มีชื่อเรียกว่า past simple  และกริยาช่องที่ 3 เรียกว่า past participle

1. Regular verb เวลาที่ทำเป็นกริยาช่องที่ 2 คือรูปอดีต past tense จะเติม ed เข้าไปที่หลังคำกริยา ซึ่งจะมีกฎการเติมดังนี้ค่ะ

1.1 คำกริยาที่ลงท้ายด้วย e ให้เติม d ได้เลย เช่น

hope – hoped =  หวัง                  love – loved = รัก
move – move =  เคลื่อน              live – lived =   อาศัยอยู่

1.2 กริยาที่ลงท้าย ด้วย y และหน้า y เป็นพยัญชนะ ให้เปลี่ยน y เป็น i แล้วเติม ed เช่น

cry – cried = ร้องไห้                     marry – married = แต่งงาน
try – tried = พยายาม

* แต่ในกรณีที่กริยาที่ลงท้าย ด้วย y แต่หน้า y เป็นสระ (a/e/i/o/u) ใหเติม ed ได้เลยเช่น

enjoy – enjoyed = สนุก                play – played = เล่น

1.3 กริยาที่มีพยางค์เดียวและเป็นสระเสียงสั้น ให้เพิ่มพยัญชนะที่ลงท้ายอีก 1 ตัว แล้วเติม ed เช่น

plan – planned = วางแผน            stop – stopped = หยุด
beg – begged = ขอร้อง

1.4 ในกรณีที่กริยาที่มี 2 พยางค์ แต่ลงเสียงหนักพยางค์หลัง และพยางค์หลังนั้นเป็นสระเสียงสั้นก็ให้เพิ่มพยัญชนะที่ลงท้ายอีก 1 ตัว แล้วเติม ed เช่น

concur – concurred = ตกลง, เห็นด้วย       occur – occurred = เกิดขึ้น
refer – referred = อ้างถึง                        permit – permitted = อนุญาต

* แต่ !! มีข้อยกเว้น ถ้าออกเสียงหนักที่พยางค์แรก ไม่ต้องเติมพยัญชนะตัวสุดท้ายเข้ามา ยกตัวอย่างเช่น

cover – covered = ปกคลุม                      open – opened = เปิด

1.5 นอกจากกฎที่กล่าวมาแล้ว กริยาตัวอื่นเมื่อต้องการให้เป็นช่อง 2 ให้เติม ed ได้เลย เช่น

talk – talked = พูด                                 start – started = เริ่ม
worked – worked = ทำงาน                     walk – walked = เดิน

2. Irregular verb หรือกริยาไม่ปกติ คือกริยาที่เมื่อทำเป็นรูปอดีตหรือกริยาช่องที่ 2 จะไม่มีการเติม ed แต่จะมีการเปลี่ยนรูป   การเปลี่ยนรูปมี 3 รูปแบบด้วยกันคือ

2.1 Irregular verb ที่มี past tense (กริยาช่องที่ 2) และ past participle (กริยาช่องที่ 3) เหมือนกัน เช่น

tell               told              told             บอก
find               found            found            ค้นหา

2.2 Irregular verb ที่แตกต่างกันทั้งสามช่อง เช่น

speak           spoke           spoke          พูด
take              took              taken            นำไป, เอาไป

2.3 Irregular verb ที่ไม่เปลี่ยนแปลงคือเหมือนกันทั้งสามช่อง เช่น

put               put               put               วาง
shut              shut              shut              ปิด

Appositive คือ นามหรือนามวลีที่มาขยายคำนามที่อยู่ข้างหน้า

Appositive คือ

Appositive

Appositive คืออะไร?  Appositive ก็คือ คำนามหรือนามวลีที่มาต่อท้ายคำนามอีกตัวหนึ่งที่อยู่ข้างหน้าเพื่อขยายความคำนามนั้นๆ เช่น ปกติเวลาที่เราเขียนประโยค เราอาจจะแบ่งประโยคที่ต้องการสื่อสารออกเป็น 2 ประโยค เช่น

  • Miss Magaret is my new English teacher.
  • She is from America.

แต่ถ้าเกิดอยากรวมมันเป็นประโยคเดียวกัน โดยใช้อีกประโยคนึงเป็นส่วนขยายก็จะเขียนได้แบบนี้ค่ะ

  • Miss Magaret, my new English teacher, is from America.
    คุณมากาเร็ต ที่เป็นคุณครูภาษาอังกฤษคนใหม่ของฉันมาจากอเมริกา

ส่วนที่ขีดเส้นใต้ เราเรียกว่า appositive ซึ่งก็คือนามวลีที่มาขยายคำนาม Miss Magaret ให้คนอ่านหรือคนฟังได้เข้าใจชัดเจนยิ่งขึ้น

หลายคนอาจจะสงสัยว่า appositive ต่างกับ relative clause หรือ adjective clause ยังไง เพราะมันก็อยู่หลังคำนามที่มันขยายเหมือนๆกัน วิธีการสังเกตดูตรงนี้ค่ะ ถ้าเป็น appositive มันจะเป็นคำนามหรือนามวลี แต่ถ้าเป็น relative clause หรือ adjective clause มันจะเป็นประโยคที่มี subordinating conjunction จำพวก who, whom, which, that วางไว้ข้างหน้า และ relative clause ยังสามารถเป็นส่วนหนึ่งของ appositive ได้อีกด้วย เช่น

  • Jack, a fat boy who is standing there, is my cousin.
    แจ๊ค ผู้ชายอ้วนๆที่ยืนอยู่ตรงนั้นน่ะเป็นลูกพี่ลูกน้องฉันเอง

ตรงส่วนที่เป็นตัวหนา จะเป็น appositive โดยส่วนที่ขีดเส้นใต้ใน appositive จะเป็น relative clause ที่มาขยายคำนาม boy อีกทีหนึ่ง

ลองมาดูตัวอย่าง appositive ประโยคอื่นๆกันค่ะ

  • Mr. Norbert, the president of the company, will deliver the opening speech in the New Year Party.
    คุณนอร์เบิร์ตที่เป็นประธานบริษัทจะกล่าวเปิดงานในงานปาร์ตี้ฉลองปีใหม่
  • Have you ever read The Red Pony, a novel by John Steinbeck?
    คุณเคยอ่านนิยายเรื่อง The Red Pony หรือเปล่า ที่ John Steinbeck เขียนน่ะ

จริงๆแล้ว appositive ก็ไม่ใช่เรื่องใหม่อะไรเลย เราอาจจะเคยเห็นผ่านตามาบ้างแล้ว เพียงแต่เราอาจจะไม่รู้ว่ามันมีชื่อเรียกว่าอะไร ลองฝึกใช้ appositive บ่อยๆ ประโยคภาษาอังกฤษของเราจะได้ไม่ซ้ำๆจำเจค่ะ ^^